บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ปรัชญาตะวันตก

สาขาวิชาต่างๆ ของศาสตร์ตะวันตกนั้น แตกแยกมาจากปรัชญาทั้งนั้น รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วย  จึงมีคำกล่าวที่ว่า ปรัชญาเป็นแม่ของสาขาวิชาทั้งปวง”  " 

ในปัจจุบันปรัชญาบริสุทธิ์ที่ยังมีการศึกษากันอยู่มี 4 สาขาคือ
  1. อภิปรัชญา (Metaphysics)
  2. ตรรกวิทยา (logic)
  3. ทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา (Epistemology)
  4. คุณวิทยา (Axiology)
สาขาวิชาที่ส่งผลกระทบต่อศาสนาพุทธเป็นอย่างมากก็คือ ทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา (Epistemology) สาขารองลงมาก็คือ ตรรกวิทยา แต่ตรรกวิทยาไม่ได้มีเนื้อหาวิชาเป็นของตนเอง

ตรรกวิทยาเป็นเพียงกระบวนการในการหาความรู้ หรือเป็นกระบวนการโน้มน้าวให้ผู้อื่นเชื่อถือ ตรรกวิทยาจึงส่งผลเสียให้กับศาสนาพุทธไม่เท่ากับทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา

ทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา คือ วิชาที่ศึกษาว่า อะไรคือความรู้ อะไรคือความจริง ความรู้กับความจริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

เครื่องมือสำหรับทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยาที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นเหตุผล (Rationality) ของตรรกวิทยา องค์ความรู้ใดๆ ก็ตามที่นักปรัชญาเห็นว่า ขาดความเป็นเหตุผล (Irrationality) สิ่งนั้น ก็ไม่นับว่าเป็นความจริง (truth) คือ เป็นองค์ความรู้ได้ แต่เป็นองค์ความรู้ที่ไม่เป็นความจริง

ลักษณะที่เป็นจุดเด่นสำคัญของนักปรัชญาที่ประชาชนคนไทยควรจะเข้าใจก็คือ นักปรัชญาไม่ให้ความสนใจหรือไม่ให้ความสำคัญในการทดลอง สังเกตการณ์ หรือลงไปศึกษาในภาคสนามอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ทำ นักปรัชญาจะใช้วิธีคิดด้วยความเป็นเหตุผล (Rationality) แต่เพียงอย่างเดียว

จากหลักความเชื่อดังกล่าว เรื่องนรก-สวรรค์ ผลกรรม อิทธิปาฏิหาริย์ ฯลฯ ของศาสนาพุทธจึงถูกปฏิเสธจากนักปรัชญา เพราะ พิจารณาแล้วว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง ในกรณีนี้รวมถึงการปฏิบัติธรรมด้วยเช่นเดียว

จะสังเกตได้ว่า ในงานเขียนของนักปรัชญา มักจะไม่นำผลการปฏิบัติธรรมของพระปฏิบัติหรือพระป่าเข้ามาพิจารณา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า นักปรัชญาตัดประเด็นการปฏิบัติธรรมออกไปจากวิธีการศึกษาเลยก็ว่าได้

ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของการศึกษาทางปรัชญาก็คือ นักปรัชญาไม่เชื่อว่าองค์ความรู้ใดในโลกนี้ สามารถเข้าถึงความจริง (Truth) ซึ่งตรงกับความเป็นจริง (Reality)[3] แล้ว รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วย

การที่มีความเชื่อเช่นนั้น นักปรัชญาจึงมีใจเปิดกว้าง (Inclusive) ยินดีที่จะรับองค์ความรู้ (body of knowledge) อื่นใดก็ได้ที่ตนเองเห็นว่า เป็นความจริง

ดังนั้น เมื่อนักปรัชญาต้องการจะศึกษาสิ่งใด ก็จะเลือกสิ่งที่ตนเองคิดว่า เป็นความจริงมาจากความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ นำมาผสม ผสานและศึกษาตีความให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา

เมื่อมีแนวทางในการศึกษาเช่นนั้น ปรัชญาตะวันตก นับตั้งแต่สมัยกรีกเป็นต้นมาจึงมีนักปรัชญาเป็นจำนวนมาก นับเป็นหลักร้อยหรืออาจจะเป็นหลักพันก็เป็นได้ ถ้านับรวมนักปรัชญาทั้งโลก  วิธีหาความรู้ความจริงในทางปรัชญาก็มีเป็นจำนวนมากไปด้วย  ทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎีก็ขัดแย้งกัน  และนักปรัชญาก็ยังคงถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน

ธรรมชาติของปรัชญาดังกล่าว จึงเป็นจุดอ่อนของตัวปรัชญาเอง ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาหลายๆ ท่าน ยอมรับแล้วว่า วิธีการศึกษาทางปรัชญาไม่สามารถค้นหาความจริง (Truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้

ปรัชญามีไว้เพียงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความคิดเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยังมีนักปรัชญาที่ไม่ยอมรับความจริงที่ว่า ปรัชญาไม่สามารถค้นหาความจริง (Truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้ ก็ยังคงที่จะศึกษาศาสนาพุทธโดยใช้วิธีการของปรัชญาเป็นเครื่องมือในการศึกษา

นักปรัชญาเหล่านี้ จึงตัดเรื่องที่เห็นว่า ไม่มีเหตุผลออกไปจากการวิเคราะห์ เมื่อจะศึกษาส่วนใดส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ นักปรัชญาก็จะไปเลือกหยิบข้อความของศาสนาพุทธในส่วนที่จะสนับสนุนความ คิด/ความเชื่อของตนมาศึกษา โดยละเลยไม่ยอมกล่าวถึงเนื้อหาส่วนที่ขัดแย้งกับความคิด/ความเชื่อของตนเอง

ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีการตีความพระไตรปิฎกให้เข้ากับแนวคิดของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการในทางภาษาศาสตร์แต่อย่างใด

โดยสรุป
จะเห็นได้ว่า นักปรัชญาจำนวนมากเชื่อว่า ปรัชญาไม่สามารถค้นหาความจริง (Truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้แน่ๆ ซึ่งก็เกิดจากการศึกษาและประสบการณ์ของนักปรัชญาเองที่พบว่า องค์ความรู้ของปรัชญาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง  นักปรัชญาก็มีเป็นจำนวนมาก

ในปรัชญาสาขาเดียวกัน ความรู้ก็ยังไม่หยุดนิ่ง ยังเกิดการถกเถียงกันตลอดเวลา  เมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธแล้ว  องค์ความรู้ทางศาสนาพุทธหยุดนิ่งแล้ว เพราะ พระพุทธองค์ตรัสแล้วว่า พระองค์ค้นพบความเป็นจริงแท้ (Ultimate Reality) แล้ว และความเป็นจริงแท้ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับตรรกวิทยาแต่อย่างใด

...............................................
เชิงอรรถ
[3] โปรดอ่านบทความของผู้เขียน เรื่อง ความจริงกับสัจจะ[1] - [6]” ในบทความของบล็อกเดียวกันนี้ 

1) ความจริงกับสัจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
2) ความหมายของ “จริง” ต่างๆ
3) ความเป็นจริง (reality) ของศาสนาพุทธคืออะไร?
4) พระไตรปิฎกเป็นความจริงทั้งหมด
5) ความจริงของวิทยาศาสตร์
6) สัจจะของศาสนาพุทธ

บทความดังกล่าว จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริง (fact) ความจริง (truth) และความเป็นจริง (reality) ว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร...



บทความในชุดเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น