บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

“เชื่อ” องค์ความรู้ตามความเชี่ยวชาญ

เปรียบเทียบองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ ปรัชญาตะวันตกและศาสนาพุทธ


องค์ความรู้ทั้ง 3 ประการข้างต้น ศาสนาพุทธเกิดก่อนโดยวิธีการปฏิบัติธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นเหตุผล (Rationality) สำหรับประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมนั้นก็จะแตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์ เพราะ การปฏิบัติธรรมใช้ ใจเป็นเครื่องมือ ส่วนวิทยาศาสตร์จะใช้ประสบการณ์ซึ่งรับได้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย

สำหรับสิ่งที่เหมือนกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับปรัชญาตะวันตกคือ องค์ความรู้จะต้องมีความสมเหตุสมผล จึงจะถือว่าความรู้นั้นเป็นความจริง

วิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนมีประสิทธิภาพในการหาความรู้คับแคบ เพราะ หาความรู้ได้เฉพาะในโลกนี้เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น 

กล่าวคือ ไม่สามารถศึกษาเข้าไปลึกๆ ถึงสภาวะของอะตอมอย่างเช่นกลอนศาสตร์ควอนตัมได้ ไม่สามารถศึกษาในระดับพหุภพ (multi-verse) ดังเช่นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ได้

สำหรับปรัชญาตะวันตกเนื่องจากวิธีการศึกษาจำกัดขอบเขตเฉพาะการใช้เหตุผล และไม่เชื่อว่ามีองค์ความรู้หาความจริง (truth) ที่ตรงกับความเป็นจริง (Reality) ได้แล้ว

ในการศึกษาจึงจะดึงหรือหยิบส่วนที่นักปรัชญาพอใจมาศึกษา โดยทิ้งส่วนที่ไม่สนใจออกไป วิธีการศึกษาเช่นนี้จึงไม่สามารถหาความจริงได้ ซึ่งนักปรัชญาส่วนใหญ่ยอมรับกันแล้ว

จะเห็นได้ว่า องค์ความรู้ของศาสตร์ตะวันตกคือ วิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ยุคและปรัชญาต่างก็มีวิธีการและมีประวัติความเป็นมาแตกต่างจากศาสนาพุทธโดย สิ้นเชิง 

ศาสตร์ตะวันตกศึกษาไปนอกตัวเพื่อที่จะหาทางเอาชนะธรรมชาติ ส่วนศาสนาพุทธศึกษาเข้าไปในตัว เพื่อทำตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ และจะบรรลุจะมุ่งหมายสูงสุดได้ เมื่อพัฒนาจิตสูงขึ้นไปเรื่อยๆ 

ศาสตร์ตะวันตกนั้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้มนุษย์เกิดกิเลส เกิดการสะสมและเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม สัตว์ และมนุษย์อื่นๆ ด้วย แต่ศาสนาพุทธจะสอนให้มนุษย์ละกิเลส ไม่เบียดเบียนให้ และให้ความรักความเมตตากับสิ่งแวดล้อม สัตว์ และมนุษย์อื่นๆ

ในกรณีที่ความรู้บางประการของศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์สอดคล้องกัน เช่น ไอน์สไตน์พบว่า เวลาของแต่ละที่แต่ละแห่งไม่เท่ากัน ก็สอดคล้องกับเรื่องเวลาของนรก-สวรรค์ มนุษย์ พรหม อรูปพรหม หรือ นรก-สวรรค์ของศาสนาพราหมณ์ก็คล้ายกันกับของศาสนาพุทธ เป็นต้น  ผู้เขียนขออธิบายดังนี้

องค์ความรู้หลักๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ต่างก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ หาความเป็นจริงแท้ (Ultimate Reality) ของธรรมชาติ ซึ่งก็คือ ความเป็นจริงแท้ของโลกหรือของจักรวาลหรือของภพ (Verse) นั่นเอง

เพื่อให้คำอธิบายของผู้เขียนอ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงขอตั้งสมมุติฐานแคบๆ ว่า ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ต่างก็ต้องการหาความเป็นจริงแท้ของโลก

สมมุติว่า ความเป็นจริงแท้ของโลกเป็นภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งสามารถเดินทางเข้าหาได้จากทุกทิศทุกทาง  แต่สภาพของภูมิประเทศในการเข้าหาภูเขาลูกดังกล่าว ยากลำบากแตกต่างกันไป กล่าวคือ อาจจะมีหุบเหว อาจจะมีเทือกเขาสูงกั้นอยู่ระหว่างทาง อาจจะมีเมฆหมอกบดบังจนไม่เห็นทัศนะวิสัยรอบข้างบ้างในช่วงหนึ่งของการเดินทาง ฯลฯ เป็นต้น

การที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน ถึงหนทางเข้าหาจะแตกต่างกัน การที่ในระหว่างทางนั้น องค์ความรู้ต่างๆ จะพบความจริง (Truth) ที่สอดคล้องกัน จึงมีความเป็นไปได้ 

แต่ในกรณีที่ผู้เขียนเป็นชาวพุทธ จึงขอยืนยันว่า ในการบรรลุความสำเร็จเพื่อให้พบความเป็นจริงแท้ของโลกนั้น  องค์ความรู้ของศาสนาพุทธเพียงประการเดียวเท่านั้นที่สามารถบรรลุผลสำเร็จ ได้  องค์ความรู้ของปรัชญา วิทยาศาสตร์ และศาสนาอื่นๆ ไม่สามารถกระทำได้

สรุป
องค์ความรู้ทั้ง 3 ประการดังกล่าว ไม่ว่าใครจะสนใจหรือไม่ ก็ต้องส่งผลต่อบุคคลนั้นๆ เสมอ เพราะ มนุษย์ทั้งหลายต่างก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม

ในเมื่อสังคมไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลขององค์ความรู้ทั้ง 3 นั้น การที่จะถูกอิทธิพลขององค์ความรู้ใดมากกว่าองค์ความรู้อื่นๆ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

บางคนสมาทานศรัทธาเชื่อวิทยาศาสตร์เก่าอย่างหัวปักหัวปำ ปฏิเสธองค์ความรู้อื่นๆ ทั้งหมด บุคคลเหล่านี้ ถ้าพิจารณาในทางศาสนาพุทธแล้ว เกิดมามืดบอดเสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์ ในทางที่ถูกต้องแล้ว เราควรที่จะเชื่อองค์ความรู้ใดก็ตามความเชี่ยวชาญขององค์ความรู้นั้นๆ

ถ้าเป็นเรื่องกายภาพทั่วๆ ไปก็ควรจะที่เชื่อวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจก็ควรที่จะเชื่อศาสนา  ถ้ามีปัญหาที่ต้องการข้อยุติอย่างมีเหตุผลก็ควรที่จะเชื่อปรัชญา...

บทความในชุดเดียวกัน

“การเห็น” สำคัญที่สุด

หลังจากทรงสอนธัมมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัจจวัคคีย์ไปแล้ว ปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 คนดังกล่าวมีดวงตาเห็นธรรมในระยะเวลาไล่เลี่ยกันแต่ไม่พร้อมกัน กล่าวคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ มีดวงตาเห็นธรรมก่อน 

หลังจากนั้นพระวัปปะกับพระภัททิยะมีดวงตาเห็นธรรมต่อมา และคู่สุดท้ายที่มีดวงตาเห็นธรรมก็คือ พระมหานามะกับพระอัสสชิ

การได้ฟัง สอนธัมมจักรกัปปวัตนสูตรจากพระพุทธเจ้าดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พระปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป บรรลุพระอรหันต์  สันนิษฐานว่า คงติดอยู่กับเรื่อง อัตตาแบบพราหมณ์

หลังจากนั้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอนัตตลักขณสูตร หลังจากได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว พระปัจจวัคคีย์จึงบรรลุพระอรหันต์ทั้ง 5 รูป

อนัตตลักขณสูตรเริ่มต้นด้วยคำสอนที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นอัตตาแบบพราหมณ์อย่างที่พระปัจจวัคคีย์ยังมีความเห็นความเชื่อ เช่นนั้นอยู่

การที่พระปัจจวัคคีย์เห็นว่า ที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอัตตาแบบพราหมณ์จึงทำให้ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ ดังนี้

   ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
   พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉนรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
    ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
    ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า

ในข้อความข้างต้นนั้น มีคำว่า ความเห็น ซึ่งในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวันจะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า opinion; view; viewpoint; idea; suggestion; assumption; belief; thought เป็นต้น 

ความเห็น ในภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะเกิดมาจาก การเห็น การอ่าน การฟัง แล้วมาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดเป็นความเห็นขึ้นมา แต่ในพระสูตรดังกล่าวนี้ พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะทรงถามความเห็นที่เกิดจาก การเห็น” (seeing) จริงๆ

จะสังเกตได้จากข้อความ ที่ว่า ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?

หลังจากที่ตรัสถามความเห็นของปัจวัคคีย์จนครบทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณแล้ว พระองค์ตรัสต่อไปว่า

   ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ
   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่ สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
.............................................................................................................................
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้นเมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ขอให้สังเกตข้อความในพระสูตรส่วนนี้ จำนวน 3 ข้อความนี้  ยถาภูตญาณทัสสนะ”, “เห็นรูปนั้น”, “อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้” 

คำว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ แปลว่า การรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่กล่าวไปแล้วว่า พระองค์ทรงทำดวงตาให้เกิด หลังจากนั้นมาจึงทรงทำญาน/ความรู้ให้เกิด

ดังนั้น การรู้เห็นในพระสูตรนี้จึงเกิดจาก การเห็นและ การรู้หรือเมื่อเห็นแล้วจึงรู้ และเป็นการรู้การเห็นตามความเป็นจริงด้วย  ซึ่งสามารถยืนยันได้จากข้อความที่ต่อมาว่า เธอทั้งหลายพึงเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณด้วยปัญญาอันชอบ

ข้อความที่ยืนยันได้อย่างชัดแจ้งที่สุดก็คือ ข้อความที่ว่า อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ข้อความนี้แสดงว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศน์สั่งสอนอยู่นั้น พระปัจจวัคคีย์ได้ปฏิบัติธรรมตามไปด้วย ขณะที่หูได้ยินหรือกำลังฟังอยู่ ใจ/จิต/วิญญาณก็กระทำตามไปด้วย

 จึง เห็นตามไปตามคำที่พระองค์สอน เมื่อทั้งฟังทั้งเห็นตามความเป็นจริง พระปัจจวัคีย์จึงบรรลุพระอรหันต์ทั้ง 5 รูป

จากหลักฐานจากพระไตรปิฎกและที่อธิบายมาข้างต้น โดยยกธัมมจักกัปปวัตนสูตรและอนัตตลักขณสูตรซึ่งเป็นพระสูตรแรกและพระสูตรที่สองที่พระพุทธเจ้านำมาทรงสอนปัจจวัคคีย์ดังกล่าว

แสดงให้เห็นว่า ในการปฏิบัติธรรมให้เพื่อ รู้และ เข้าใจในหัวข้อธรรมะต่างๆ ต้องมี การเห็น”  (seeing) ด้วยตา คือ ตั้งแต่ตาเนื้อของร่างกายตลอดจนตาภายใน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ข้อเขียนของผู้เขียนมีน้ำหนักแน่นขึ้นไปอีก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสำคัญอีกสองตัวอย่างดังนี้

ตัวอย่างแรก
ในพระไตรปิฎก เล่ม 19 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หัวข้อนีวรณสูตร พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงนิวรณ์ 5 กับโพชฌงค์ 7 นิวรณ์ 5 ก็รู้กันทั่วๆ ไปว่าเป็นเครื่องกั้นคุณความดี สำหรับโพชฌงค์ 7 นั้น เป็นหัวข้อธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ซึ่งก็แสดงว่ามีความสำคัญมากเลยทีเดียว

ในนีวรณสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า นิวรณ์ 5 ทำให้มืดเพราะ ไม่มีจักษุ และไม่มีญาณ/ความรู้ แต่โพชฌงค์ 7 นั้น กระทำสิ่งตรงกันข้ามกับนิวรณ์ 5  คือ ทำให้มีจักษุ ซึ่งก็หมายถึงว่า จักษุภายในเกิดขึ้น จึงมีการเห็นเกิดขึ้น เมื่อมีจักษุและการเห็นเกิดขึ้นแล้วญาณ/ความรู้ก็จึงเกิดขึ้น ด้วย  ดังนี้

  [501] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ 5 เหล่านี้ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุ กระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อ นิพพาน.............................................................
  [502] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ กระทำให้มีจักษุ กระทำให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญปัญญา ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

จากนิวรณสูตรดังกล่าว การปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน (เห็นแจ้ง) จะต้องมีการเห็นเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเห็นเกิดขึ้น ญาณ/ความรู้ที่ถูกต้องไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

พุทธวิชาการที่เขียนหรืออธิบายเกี่ยวญาณ/ความรู้ที่เกิดขึ้นจากสมถกรรม ฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน (เห็นแจ้ง) ที่ไม่มีการเห็นเกิดขึ้น จึงไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเด็ดขาด มีโอกาสเป็นไปได้เพียงการเดา/การอนุมาน (infer) เท่านั้น

ตัวอย่างที่สอง
ตัวอย่างแรกนั้น เป็นกระบวนการในการที่จะตรัสรู้ซึ่งก็ต้องมีการเห็น ญาณ/ความรู้จึงเกิดขึ้น พระสูตรต่อไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ยืนยันอีกว่า จะต้องมีการเห็น คือ มีจักษุเกิดขึ้น จักษุนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าตาเนื้อ

พระสูตรนี้กล่าวถึงความเป็นมาว่า มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อเวรัญชพราหมณ์ กล่าวหาว่า พระพุทธเจ้าทรงขาดสัมมาคารวะกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ ซึ่งตามวัฒนธรรมประเพณีของอินเดียสมัยนั้น ผู้มีอายุน้อยกว่าต้องให้ความเคารพกับผู้มีอาวุโสกว่า

พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายเปรียบเทียบการกระทำของพระองค์กับการฟักไข่ ว่าไก่ที่ออก มาทีหลังๆ นั้น จะต้องเรียกไก่ที่ฟักตัวแรกว่าพี่ พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ก่อนคนอื่น และนำมาสอน คนอื่นก็ต้องให้ความเคารพกับพระองค์

หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ตรัสรู้วิชชา 3 วิชชาแรกก็คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ การรู้จักระลึกชาติได้ แต่เป็นการระลึกชาติของตนเอง ต่อมาวิชชาที่สองคือ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้จักระลึกชาติของคนอื่นได้ ซึ่งมีข้อความบางส่วนดังนี้

เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลัง จุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีตผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้

จากข้อความดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงเห็นการเกิดของหมู่สัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าจักษุของมนุษย์ นี่ก็หมายถึงว่า ในการระลึกชาติของพระองค์เองก็ต้องเห็นในลักษณะนี้

ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ เห็นเหมือนเราดูหนัง และเห็นภาพที่ชัดเจน ไม่ใช่นึกเอาแบบมัวๆ ซัวๆ  หรือใช้หลักการของตรรกวิทยาคาดคะเนเอาว่า ควรจะเป็นเช่นใด  ซึ่งไม่มีทางที่จะเห็นภาพใดๆ เลย 

จากหลักฐานที่กล่าวทั้งหมดในส่วนนี้นั้น ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า สายปฏิบัติธรรมใดก็ตามที่ปฏิเสธการเห็นก็ไม่สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้เลย  ผลของการปฏิบัติธรรมของสายดังกล่าวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเข้าใจผิดไปในระดับใด บางท่านคิดว่า ผู้ปฏิบัติธรรมแบบอื่นๆ นั้น บรรลุพระอรหนต์ไปแล้ว  ก็เป็นเพียงผลของการปฏิบัติธรรมในระดับสมถกรรมฐานเท่านั้น 

ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวถึงวิชชาสุดท้ายว่า

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ

ข้อความที่ว่า รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ก็เป็นหลักฐานสำคัญว่า ในการพิจารณาหัวข้อธรรมะขั้นละเอียดลึกซึ้งจนถึงการบรรลุพระอรหันต์ต้องใช้ การเห็นเป็นสำคัญ พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ทั้งเห็นทั้งรู้ และก็ทั้งรู้ทั้งเห็น จะรู้อย่างเดียวโดยปราศจากการเห็นไม่ได้ และจะเห็นอย่างเดียวโดยปราศจากการรู้ไม่ได้ เพราะ รู้อย่างนั้นไม่ใช่การรู้แจ้งเห็นจริง

โดยสรุป

การเห็นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐานหรือ วิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงหัวข้อธรรมะในระดับสูง 

ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าปฏิเสธการเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ไม่จริง ก็เปรียบเสมือนกับคนที่มีตาพิการในโลกของเรานี้ ซึ่งไม่อาจจะเรียนรู้โลกได้ถูกต้อง เป็นจริงอย่างเช่นที่คนตาดีกระทำได้เลย 

ถ้าไม่อาศัยการเห็น ก็ไม่สามารถจะทำให้ใจ/จิต/วิญญาณ เบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณได้  เมื่อใจ/จิต/วิญญาณไม่เบื่อหน่ายในขันธ์ห้า ความกำหนัด ก็ไม่สิ้นไป ใจ/จิต/วิญญาณก็ไม่สามารถพ้นภพสามไปได้ การบรรลุพระอรหันต์ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้...

บทความในชุดเดียวกัน

วิชาธรรมกาย


เนื่องจากผู้เขียนบทความเป็นวิปัสสนาจารย์สอนการปฏิบัติธรรมแบบวิชาธรรมกาย ซึ่งก็บอกอย่างชัดแจ้งว่า ผู้เขียนเห็นว่าวิชาธรรมกายถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก  การอธิบายศาสนาพุทธในบทความนี้ จึงจะอธิบายศาสนาพุทธแบบวิชาธรรมกาย

สายปฏิบัติธรรมแทบทั้งหมดในประเทศไทย  ยกเว้นสายวิชาธรรมกายจะปฏิเสธ "การเห็น" ในขณะการปฏิบัติธรรม

กล่าวคือ ในการปฏิบัติธรรมนั้น จะไม่ยอมให้ภาพใดๆ เกิดขึ้น ถ้ามีภาพเกิดขึ้น ให้ขจัดออกไป เนื่องจากเห็นว่า ภาพดังกล่าวเป็นนิมิตลวง ซึ่งจะขัดขวางการปฏิบัติธรรม

อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติธรรมนั้น มีอยู่ 2 วิธีคือ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน  คำว่า วิปัสสนานั้นแปลว่า เห็นแจ้ง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในทางภาษาศาสตร์แล้ว การปฏิบัติธรรมจะต้องมี การเห็นเป็นหลักสำคัญ  และจะต้องไม่เป็นการเห็นแบบคลุมเครือ แต่ต้องเป็นการเห็นอย่างแจ่มแจ้งอีกด้วย

ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ต้องทรงใช้ศัพท์อื่นไปแล้ว นอกจากชื่อจะบ่งแสดงให้เห็นว่า วิปัสสนาต้องมี การเห็นเป็นองค์ประกอบสำคัญ ยังมีพระสูตรเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนว่า วิปัสสนาต้องมี "การเห็น"

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกมาสอนปัจจวัคคีย์ และน่าจะเป็นพระสูตรที่สำคัญมาก เพราะ พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วด้วยวิธีการใด

ในพระสูตรนี้พระองค์ได้ทรงกล่าวกับปัจจวัคคีย์ว่า ไม่ควรทรมานตนเองให้ลำบาก และหมกมุ่นอยู่ในกาม เพราะไม่เป็นประโยชน์ ต่อจากนั้นพระองค์ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พระองค์มีดวงตาเกิดขึ้น แล้วญาณ/ความรู้จึงเกิดตามขึ้นมา  ดังนี้

  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน?

จะเห็นได้ว่า..... พระองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงทำดวงตาให้เกิด และทำญาน/ความรู้ให้เกิด ทั้งดวงตาและญาน/ความรู้นั้นจะทำให้บรรลุพระนิพพานได้ ต่อจากนั้น พระองค์ทรงอธิบายต่อถึงเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งรวมถึงมรรค 8 ด้วย หลังจากพระองค์ตรัสว่า

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ.
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้.
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว.
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ

พระองค์ตรัสข้อความดังกล่าว 3 รอบ รอบแรกทรงกล่าวว่า พระองค์รู้จักอริสัจ 4   รอบที่สองทรงกล่าวว่า จะทำอะไรกับอริสัจ 4 และรอบที่สาม ทรงกล่าวว่า ได้ทำอะไรไปแล้วกับอริยสัจ 4 ซึ่งเมื่อกระทำแล้วพระองค์จึงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ข้อความในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกัน พระองค์ตรัสว่า ดวงตาของพระองค์เกิดขึ้น ญาณ/ความรู้จึงเกิดขึ้น ต่อจากนั้น ปัญญา วิทยา/วิชา และแสงสว่างจึงเกิดขึ้นมาตามลำดับ

ต่อจากนั้นมา พระสูตรนี้กล่าวว่า....

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยาก รณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อยู่นั้น ปัจจวัคคีย์ก็ปฏิบัติธรรมตามไปด้วย เมื่อใจสงบเป็นหนึ่งเดียว/เอกัคคตารมณ์แล้ว พระโกณฑัญญะจึงมีดวงตาคู่ใหม่เกิดขึ้น

ดวงตาคู่ใหม่นี้เห็น ธรรมซึ่งผ่องใส ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เมื่อพระโกณฑัญญะเห็นธรรมแล้ว จึงกล่าวขอบรรพชาอุปสมบท

   ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรม แจ่มแจ้งแล้ว  มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า

จากธัมมจักกัปปวัตตนสูตรข้างต้น คำว่าดวงตานั้นต้องไม่ใช่ดวงตาที่เป็นตาเนื้อของพระพุทธเจ้าและปัจจวัคคีย์ เพราะ ตาเนื้อนั้นมนุษย์ทุกคนต้องมีมาตั้งแต่เกิดแล้ว  แสดงว่า ดวงตาในพระสูตรนี้ต้องเป็นดวงตาชนิดอื่น

มีนักวิชาการเป็นจำนวนมากที่อธิบายคำว่า เห็นในพระสูตรนี้เป็นไปในทำนองว่า เข้าใจหรืออธิบายคำว่า เห็นเป็นเพียงชื่อของปัญญา

บางท่านก็กล่าวว่า เป็นสภาวธรรม โดยไม่อธิบายให้ชัดเจนว่า เป็นสภาวธรรมอย่างไร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่ถูกต้อง

คำว่าเห็นจะต้องอาศัยอายตนะตาเป็นเครื่องมือ ซึ่งตาหรือจักษุอื่นๆ ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่ม21 ขุททกนิกาย มหานิทเทส ดังนี้

   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราย่อมเห็นหมู่สัตว์นี้ไปในตัณหาในภพทั้งหลาย ดิ้นรนอยู่ในโลก  นรชนทั้งหลายที่เลว ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ย่อม ร่ำไรใกล้ปากมัจจุ.  สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา
   คำว่า เราย่อมเห็น ... ดิ้นรนอยู่ในโลก มีความว่า คำว่า ย่อมเห็น คือ ย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู ด้วยมังสจักษุบ้าง ทิพยจักษุบ้าง ปัญญาจักษุบ้าง พุทธจักษุบ้าง สมันตจักษุบ้าง  คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก  ธาตุโลก อายตนโลก. คำว่า ดิ้นรนอยู่ คือ เราย่อมเห็น ย่อมแลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู [ซึ่งหมู่สัตว์นี้] ดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว เอนเอียง กระสับกระส่ายไปมา

จากพระสูตรดังกล่าวจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสก่อนว่า พระองค์เห็นหมู่สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา พระองค์ทรงใช้คำที่ต้องใช้ตาเป็นเครื่องมือแทบจะคลอบคลุมทั้งหมด คือ เห็น แลดู ตรวจดู พิจาณาดู ด้วยดวงตา 5 ประเภทคือ
  • มังสจักษุ/ตาเนื้อ
  • ทิพยจักษุ
  • ปัญญาจักษุ
  • พุทธจักษุ
  • สมันตจักษุ
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าและพระปัจจวัคคีย์นั้น ต้องเห็นด้วยทิพยจักษุ, ปัญญาจักษุ, พุทธจักษุ หรือสมันตจักษุ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะหลายอย่างแต่ต่างกรรมต่างวาระกัน...

บทความในชุดเดียวกัน